อนาคตเหล็กไทย ฝากไว้กับมาตรการรัฐ

07 พฤษภาคม 2567
อนาคตเหล็กไทย ฝากไว้กับมาตรการรัฐ

แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะใช้มาตรการสารพัดกับผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนตั้งแต่มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure : SG)

รวมถึงการใช้กฎหมายความมั่นคง (Section 232) ซึ่งแม้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กจากจีนตั้งแต่ปี 2561 ที่ 25% และยังประกาศให้โครงการทั้งหมดของรัฐใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตในสหรัฐฯ เท่านั้นก็ตาม แต่ปริมาณการนำเข้าเหล็กจากจีนก็ยังมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กในสหรัฐฯ ประสบปัญหาการผลิตอย่างรุนแรง

จนเมื่อต้นเดือนเมษายนปีนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เรียกร้องให้ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมทุกชนิดจากจีนเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

เรื่องนี้ทำให้เรามองเห็นภาพของสถานการณ์แวดล้อมของธุรกิจเหล็กในภาพรวมได้ดีว่ามีสภาพเป็นแบบไหน เผื่อคนทำนโยบายในบ้านเราจะได้มองภาพให้ครบถ้วน เพื่อจะได้ตัดสินใจให้ดีและชั่งน้ำหนักในทุกด้าน โดยมองความมั่นคงในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศได้อย่างชาญฉลาด

ถ้ามองแบบสามัญสำนึก และหลักทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ที่ผมพอได้เรียนมาบ้าง เขาก็จะสอนเราว่าการค้าเสรีที่รัฐไม่ต้องออกกฎ กติกาอะไร ปล่อยให้คนที่เก่งอะไร ทำอันนั้น แล้วเอามาแลกกัน ก็จะทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุด และสังคมก็เช่นกัน เรียกว่าไม่มี Deadweight Loss เรียกง่าย ๆ ว่า สังคมพระศรีอารย์ว่างั้นเถอะ

ถ้ามองแบบสามัญสำนึก และหลักทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ที่ผมพอได้เรียนมาบ้าง เขาก็จะสอนเราว่าการค้าเสรีที่รัฐไม่ต้องออกกฎ กติกาอะไร ปล่อยให้คนที่เก่งอะไร ทำอันนั้น แล้วเอามาแลกกัน ก็จะทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุด และสังคมก็เช่นกัน เรียกว่าไม่มี Deadweight Loss เรียกง่าย ๆ ว่า สังคมพระศรีอารย์ว่างั้นเถอะ

ถึงแม้ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะออกมาตรฐานบังคับมากมาย เพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน แต่ก็เป็นการชะลอ หรือบรรเทาปัญหาบ้างเล็กน้อยเท่านั้นเอง เพราะไม่ใช่มาตรการที่ตรงจุด

และผมต้องขอชื่นชมกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินมาตรการ AD กับผลิตภัณฑ์เหล็กมาอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นการยื่นท่อออกซิเจนให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อต่อชีวิตอีกเฮือก ซึ่งผมเชื่อว่าผู้ประกอบการไทยรู้ว่า หากจะให้อยู่ยาวๆ หายใจสะดวก หายใจเต็มปอด ก็ต้องเร่งพัฒนาตัวเองในช่วงที่มาตรการ AD ยังใช้อยู่

แต่สถานการณ์วันนี้ ทั้ง ๆ ที่ กรมการค้าต่างประเทศ ได้ยื่นมือมาพยุงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้เพื่อให้ได้มีเวลาหายใจ หายคอและทุ่มกำลังสมองในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันให้กับตัวเอง แต่เมื่อมองดูตัวเลขสถิติต่าง ๆ ทำให้เห็นสิ่งที่ผิดปกติ คือ อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กลดลงจาก 37% เมื่อ 2564 มาเป็น 31% ในปลายปี 2566 และปริมาณการนำเข้าเหล็กจากจีนยังไม่ลดลงทั้ง ๆ ที่มีมาตรการ AD และแถมยังนำเข้าเพิ่มขึ้นอีกบ้างในบางช่วง

ทั้ง ๆ ที่ความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศลดลง เนื่องจาก ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ ซึ่งคนทั่วไปอาจสงสัยว่าเป็นไปได้ยังไงทั้ง ๆ ที่ก็มีมาตรการ AD แล้ว แต่คนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างทราบดีว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ทุกอย่างไม่ได้ตรงไปตรงมาและเดียงสา เหมือนข้อสมมติในทฤษฎี เพราะคนนำเข้าเขารู้วิธี “เลี่ยง” ซึ่งทำให้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน

ต้องมีมติให้ใช้มาตรการการหลบเลี่ยง (Anti - Circumvention) หรือ AC กับผลิตภัณฑ์เหล็กบางชนิดที่อยู่ในมาตรการ AD และตอนนี้เข้าใจว่ากำลังจะดำเนินการทำ Public hearing กับผู้เกี่ยวข้องทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการหลบเลี่ยง (Circumvention) สินค้าเหล็กจากประเทศจีนในหลายกรณี เช่น สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีน ซึ่งถูกกำหนดอากรทุ่มตลาด (AD Duty) ที่ 31% แต่ผู้ผลิตจากจีนได้หลบเลี่ยงการจ่ายอากร AD โดยวิธีการเจือสารอัลลอย เช่น ไททาเนียม และ โคบอล์ต เพียงปริมาณเล็กน้อย เพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากร แต่คุณสมบัติของเหล็กยังคงสามารถใช้ในอุตสาหกรรมเดิม และลูกค้าเดิมได้เช่นเดิมทุกประการ

ทำให้ในปี 2566 จีนได้ทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยมาประเทศไทยปริมาณเกือบ 5 แสนตัน คิดเป็นการหลบเลี่ยงอากรทุ่มตลาดมูลค่าเกือบ 4 พันล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ควรเป็นรายได้ของประเทศ แต่ที่สุดก็คือ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการด้อยประสิทธิภาพมาตรการ AD ของกระทรวงพาณิชย์ที่ออกมาดูแลอุตสาหกรรมไทย 

ไม่แปลกที่ประเทศไทยมีการใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กหลายมาตรการ และส่วนใหญ่ก็คือสินค้าเหล็กจากจีนก็คล้ายกับหลายประเทศในโลกที่ทำ AD สินค้าเหล็กกับจีนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ฯลฯ แถมยังใช้มาตรการอื่น ๆ ครบชุด ทั้ง CVD, SG และการเพิ่มภาษีขาเข้าอีกด้วย

จะมีเพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น ที่ตอนนี้ใช้มาตรการ AD เพียงอย่างเดียว แม้ว่าในอดีตจะเคยใช้ SG บ้างในบางช่วง แต่ไม่เคยมีการใช้ CVD เลยตั้งแต่มี พ.ร.บ. นี้ในปี 2542 การดิ้นรนการส่งออกของผู้ประกอบการจีนไปยังประเทศต่าง ๆ ก็เพราะปริมาณความต้องการใช้ในประเทศลดลง แต่การผลิตยังคงต้องดำเนินต่อไป และขนาดกำลังการผลิตของจีนนั้นก็มีมาก ทำให้อุปทานล้นตลาด ซึ่งตัวเลขในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 ประเทศจีนมีความต้องการใช้เหล็กดิบ 153.08 ล้านตัน ลดลง 0.9%

แต่โรงงานเหล็กในจีนยังคงผลิตเหล็กมากขึ้นเป็น 167.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.6% และเกินความต้องการใช้ 14.88 ล้านตัน

ดังนั้น ผมจึงไม่แปลกใจที่เขาจะหาที่ลงให้กับสินค้าเหล่านี้ หากประเทศใด ซื่อ ๆ เงอะ ๆ งะ ๆ ไม่มีการป้องกันดี ๆ แล้ว ผมรับรองได้ว่าตลาดนั้นจะกลายเป็น Dumping Place สำหรับสินค้าเหล็กจากจีนแน่ ๆ ซึ่งในปี 2567 นี้ ขนาดประเทศไทยมีมาตรการ AD ปริมาณการนำเข้าเหล็กจากจีนยังอยู่ในระดับที่สูงเช่นเดิม

ผมก็ไม่แปลกใจเช่นกัน หากจะมีผู้นำเข้าบางรายพยายามเรียกร้องไม่ให้มีการใช้ AC เพราะตนเองจะหาทางเลี่ยงมาตรการ AD ไม่ได้ เหตุผลอาจดูดีที่ว่า หากต้องเสียอากรนำเข้าเพิ่มจากมาตรการ AD จะทำให้ต้นทุนผู้ผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องสูง ราคาสินค้าสูง และผู้บริโภคเดือดร้อน เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงมาในทุกประเทศ แต่ก็จบลงที่การมองภาพรวมของอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ

รวมทั้งความมั่นคงทางวัตถุดิบของประเทศเป็นสำคัญ จึงทำให้มาตรการของทุกประเทศมีเหมือน ๆ กัน คือ กำหนดมาตรการ AD และมีมาตรการ AC หากมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงของผู้นำเข้า อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศจำนวนมากก็อยากให้มีมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศ

แม้ว่าจะต้องมีราคาวัตถุดิบสูงบ้าง แต่เมื่อแลกกับการรักษาฐานการผลิตในประเทศเพื่อความมั่นคงทางวัตถุดิบในระยะยาวไว้ และยิ่งผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน

ที่สำคัญของอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท รวมทั้งหากเกิดวิกฤติสงครามหรือการชะงักของการค้าระหว่างประเทศ เช่นที่เราเคยเจอในช่วงโควิด ก็จะเห็นการขาดสะบั้นของระบบห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ ทำให้สินค้าขาดตลาด ราคาแพง ซึ่งตอนนั้นใครจะไปนึกว่าหน้ากากอนามัยจะมีราคาผืนละสิบบาท

แถมยังหาไม่ได้อีกต่างหาก นั่นเป็นเพียงตัวอย่าง ผมจึงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเหล็กเลย และเพื่อความแฟร์ของทุกฝ่ายในระบบอุตสาหกรรมเหล็ก ผู้ประกอบการไทยก็ต้องไม่ถือโอกาส abuse มาตรการคุ้มครองนี้ โดยการเพิ่มราคาสูงหรือไม่ขยับราคาลงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย

ผมยังเชื่อมั่นว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และเกี่ยวข้องกับการทำประชาพิจารณ์กับมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยง (AC) ในระดับคนทำงานจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงได้มีการกำหนดมาตรการนี้ออกมา แต่ผู้บริหารในระดับนโยบาย

ผมยังไม่แน่ใจนักว่าท่านจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะท่านจะยุ่ง ๆ กับการเมืองจนชุลมุน เห็นข่าวท่านให้สัมภาษณ์ทีไร ไม่ค่อยมีใครถามท่านเรื่องเศรษฐกิจ การค้า อะไรเลย จะมีแต่ถามเรื่องการจัดโผปรับคณะรัฐมนตรี แต่ลึก ๆ ผมเชื่อมั่นว่าเสนาบดีการค้าท่านนี้จะมองทะลุ ดูภาพรวมทั้งหมดออก และมองผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาวออก คงจะไม่ยอมเอาฉายา “ขงเบ้ง” มาหมดสภาพกับเรื่องนี้หรอก


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.